Monday, October 20, 2008

ทุกข์จ๋า..แวร์ อาร์ หยู? (พันธมิตรก็อ่านได้นะจ๊ะ)

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายปลายยุคถิ่นกาขาว ใครจะไปนึกว่าเรื่องราวมันจะเลวร้ายถึงขนาดนี้ เหมือนเข้าไปอยู่ในมิติพิศวงยังไงยังงั้น ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด กลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำมั่วซั่วเลอะเทอะ ร่ำๆว่าถ้าไม่นองเลือดกันครั้งใหญ่ คงจะปลดล็อคได้ยาก อาณาประชาราษฎร์จึงได้แต่ตุ๊มๆต่อมๆ นั่งลุ้นกันตัวโก่ง อมทุกขเวทนาแสนสาหัส

ได้แต่มองหน้ากันปริบๆ ว่านี่จะทำยังไงกันหนอ จึงจะผ่านพ้นช่วงประวัติศาสตร์อันแสนยุ่งยากนี้ไปได้ โดยเสียหายให้น้อยที่สุด

"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" พุทธพจน์นี้ยังทันสมัยใหม่เสมอ หยิบฉวยขึ้นมาใช้ได้ทุกเวลา เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เพราะว่า ธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ทุกข์มาเมื่อไหร่ มองหาธรรมะของพระพุทธองค์ไว้ก่อน รับรองว่าไม่มีผิดหวัง เมื่อทุกข์เกิดก็ต้องเลาะตะเข็บออกมาดูซะให้เห็นแจ้ง ว่าทุกข์นั้นมัน แวร์ อาร์ หยู? จะได้จัดการชำระซะให้สิ้นซาก

หมดเวลาแล้วสำหรับผีสางเทวดา ที่คอยหาเศษหาเลย กับการเป่าเสกเวทมนตร์ เห่กล่อมชาวบ้าน พอให้ได้เคลิ้มๆครึ้มๆ ลืมทุกข์ไปได้ แค่ผ่านไปวันๆ

เพียงแต่ว่า ต้องกล้าๆหน่อย ลงมีดกรีดเนื้อเถือหนังออกมาดู ก็จะได้รู้ได้เห็นเป็นอัศจรรย์ว่า โ๊อ๊ะโ้อ๋.. คนเรานั้นมันก็แค่นี้เอง หลักใหญ่ใจความอยู่ที่นามกับรูป รวมกันเป็นขันธ์ 5 ที่แยกออกมาเป็น 5 ขันธ์ นั่นแหละโยม

รูปขันธ์ คือขันธ์เดียวโ่ด่เด่ ที่จัดว่าเป็นรูปธรรม ว่าไปแล้วไม่ต่างจากฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ จับได้ต้องได้ แต่ไร้ชีวิตชีวา เรื่องโง่นั้นต้องยกให้ มันไม่รู้อะไรซักอย่าง ถ้าไม่มีซอฟท์แวร์ ซึ่งก็คืออีก 4 ขันธ์ ที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ทำหน้าที่เป็นซอฟท์แวร์อันชาญฉลาด แต่บางอันมันก็โง่เหลือหลาย ขึ้นอยู่กับว่า กรรมใครก็กรรมมัน

เมื่อธาตุทั้ง 4 มีดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันพร้อมหน้า ก่อเกิดขึ้นมาเป็นรูปขันธ์ มีตัวมีตนพร้อมเครื่องยนต์กลไก ไส้เล็กไส้ใหญ่ ตับ ปอด เซ่งจี๊ ครบอาการ 32 ส่วนที่มองเห็นสัมผัสได้จากภายนอก ก็มีลำตัว แขน ขา หู ตา จมูก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กับปากบางๆ จะไว้ใจได้ก๊ะ?

ซื้อรถมา 4-5 สิบล้าน ถ้าไม่มีโชเฟอร์ขับมันก็แค่นั้นเอง รถทั้งคันมันก็ไม่ต่างจากดุ้นฟืน ฉันใดก็ฉันเพล มีแต่ตัวกับหัวใจสูบฉีดโลหิตปรี๊ดๆมันก็ไร้ค่า ถ้าไม่มีโชเฟอร์มาพาซิ่ง เย้ยฟ้าท้านรก ฝ่าอเวจี ควบจี๋เข้าเส้นชัยที่โลกันตร์

โชเฟอร์ของร่างกายก็คือดวงจิต จิตดวงเดียวแท้ๆ ที่พาคนให้ทำชั่วกลั้วดี เป็นได้ทั้งผีทั้งพระ ทูอินวัน และก็ในจิตดวงนี้นี่เอง เป็นที่ชุมนุมของนามขันธ์ทั้ง 4 ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทำงานเข้าขากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย

วิญญาณขันธ์นั้นเป็นด่านหน้า คอยรับสัญญาณจากตัวเซ็นเซอร์ทั้ง 5 คือ ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส แล้วก็กายสัมผัส ทำให้รู้หนาวรู้ร้อน รู้อ่อนรู้แข็ง สูงต่ำดำขาว เสียงเบาเสียงดัง มันก็รู้ไปหมด

รู้ไม่รู้เปล่า แต่ส่งต่อปรู๊ดปร๊าดไปยังเวทนาขันธ์ เพื่อให้กฤษฎีกาตีความออกมาซะให้โป๊ะเช๊ะ ว่าพอใจ หรือว่าไม่แฮ๊ปปี้ หรือว่าโนคอมเม้นท์แค่เฉยๆ ถ้าเปรี้ยวหวานมันเค็มอร่อยลิ้นจะได้กินต่อ ตรงกันข้ามถ้าสุนัขไม่รับประทานจะได้เททิ้งไป

แล้วจดใส่บัญชีหนังหมา คือสัญญาขันธ์ ซึ่งมีหน้าที่เรียนรู้และจดจำ วันหลังจะได้ตัดสินใจถูก ว่าจะเอาดีหรือไม่เอาดี ถ้าดีมากจะได้เอาเบิ้ล

ทั้ง 3 ขันธ์ที่ว่ามานั้น มันเป็นเรื่องธรรมชาติ จัดมาให้สำหรับสัตว์โลกทั้งหลายเป็นการเฉพาะ จะได้รู้จักเอาชีวิตรอด ปลอดภัยไปจนแก่เฒ่า รู้อยู่รู้กิน สืบต่อเผ่าพันธุ์ให้มันบ๊ะละฮึ่ม ถ้าไม่มีกลไกพวกนี้ ส่ำสัตว์ทั้งหลาย คงสวาปามกันมั่วซั่ว กินซี้ซั้วจนหงายเก๋ง แล้วก็ตายแหงแก๋ หรือไม่ก็ไม่กินอะไรเลย จนยืนแห้งตายซากกันไป ไม่มีเหลือหลอ

มาถึงขันธ์ที่ 4 สุดท้ายท้ายสุด คือสังขารขันธ์ เจ้าขันธ์บ้าตัวนี้ นี่แหละตัวแสบ หน้าที่หลักคือคอยปรุงแต่งอารมณ์ ตีไข่ใส่สีล่อให้เละตุ้มเป๊ะ แค่อยากมีไม่ได้ อยากได้ไม่มี ก็ปวดหัวจี๊ดๆอยู่แล้ว มันมาปรุงแต่งให้กลายเป็นงานช้าง เลยทุกข์เป็นบ้าเป็นหลัง ทุกข์จนจะเป็นจะตาย เรียกว่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำเรื่องใหญ่ให้มันใหญ่โคตรๆ

กินเพื่ออยู่ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน แค่กินพออิ่มมันยังไม่หนำ ใส่สีตีไข่เข้าไป กลายเป็นกินเอามัน กินยุบกินยับ กิินไม่รู้จักหยุดจักหย่อน อิฐ หิน ปูน ทราย มันละลายเรียบ เป็นที่มาของอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อยากได้ใคร่ดีไปกันยกใหญ่ ทั้งๆที่กลไกธรรมชาติล้วนๆ ก็อยู่ได้สบายไปทั้งชาติ ถ้าไม่เชื่อก็ให้ดูสัตว์โลกเพื่อนซี้ เป็นตัวอย่าง

เมื่อสีหราชเฒ่าเข้าสมสู่ ดู๋ดี๋กับนางสิงห์สาว ท่วงทีลีลานั้นจืดชืด พอๆกับน้ำล้างถุงกาแฟ ทำราวกับว่ากามกีฬามันแค่เรื่องจิ๊บจ๊อย ยักคิ้วยักเอวยักไหล่ เคี้ยวแห้วไปยังจะมันซะกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องซี๊ดซ๊าดกรี๊ดกร๊าด หกหน้าลังกาหลังให้มันเสียวก้นกบ พลาดพลั้งลงไป บั้นท้ายเคล็ดเอวยอกขึ้นมา มันจะดูไม่จืด

แค่ท่าเบสิคธรรมดา ยักย้าย ซ้ายขวา โย้หน้าโย้หลัง ก็ขี้คร้านจะลูกเต็มบ้าน แถมด้วยหลานเต็มเมือง

เป็นอันว่า ทุกข์นั้นมันปรุงแต่งมาจากภายใน ทุกข์ใจแทบตาย ก็เำพราะใจมันทุกข์ ปัจจัยภายนอกมันก็แค่สภาวธรรม ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ฝนจะตก แดดจะออก คนจะแหล ไม่ว่าใครก็ไปห้ามมันไม่ได้ รับรู้ไว้ แต่ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ คนไหนน่าชังก็จำหน้าไว้ แล้วอย่าไปคบ จัดการทุกอย่างอย่างมีสติ อย่าให้อารมณ์มาครอบงำ สุดท้ายแล้ว ยังไงก็แฮ๊ปปี้เอนดิ้ง

แต่อย่างว่า คนเราไม่ใช่พระอิฐพระปูน คนมายืนด่าอยู่ฉอดๆ จะให้ยืนฟังพร้อมกับยิ้มแฉ่ง มันก็เกินไปหน่อย อย่ากระนั้นเลย เอาอริยสัจจ์ 4 เข้าจับ ทุกข์นั้นมันเกิดแต่เหตุ ดับซะที่เหตุ ทุกข์มันก็มอด เมื่อเหตุมันเกิดแต่ปากมาด่าแจ๊บๆ เอาไม้ตีพริกยัดเข้าไปที่เหตุ เสียงด่ามันก็ดับ คราวนี้หละแกเอ๊ย ไปล้งเล้งกันต่อที่โรงพัก ไม่รู้อะไรเป็นอะไร บานฉ่ำไม่รู้หุบ

รู้ทั้งรู้ แต่ก็ทำไม่ได้ ศึกษาธรรมแทบตายมันก็ยังร้อนรน เขาถึงว่า รู้จำโดยสัญญา ยังไม่นับว่ารู้ธรรม ต่อให้ท่องบ่นพระไตรปิฎกจนคล่องปรื๋อ ก็บรรลุอรหันต์ไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม ให้มันรู้แจ้ง ไม่เช่นนั้นบรรดามหา เปรียญ 9 ประโยค คงเป็นอรหันต์กันไปหมดแล้ว แต่ในความเป็นจริงพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่เคยปรากฎว่า จบเปรียญธรรมซักประโยค

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าให้มานั่งปลง ทำเป็นหมดอาลัยตายอยาก ไม่เอาอะไรซักอย่าง หรือบ้างก็นั่งยิ้มแฉ่งทั้งวัน ไม่รู้ว่ามันสุขใจอะไรกันนักกันหนา ที่บ้าหนักหน่อย ก็ฉีกยิ้มค้างจนเป็นร่องลึกบนใบหน้า ดูไปดูมาเหมือนรูปปั้น ลิงแถกเหงือก ยังไงยังงั้น

การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญในการควบคุมอารมณ์ ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริง มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่ว่าจะเอาดีเอาเด่น เป็นผู้วิเศษหรือก็เปล่า จิตที่ฝึกดีแล้ว จะทำการสิ่งใดก็สบายบรื๋อ ถ้าไม่รู้วิธี วันหลังจะกระซิบให้ ฝึกที่บ้านก็ได้ หรือไปเข้าวัดก็ดี แต่ที่สำคัญ ต้องเลือกดูพระให้เป็น ไม่งั้นมีหวังออกทะเลเอาได้ง่ายๆ

ในถิ่นกาขาวทุกวันนี้ อลัชชีที่อวดอ้างว่ารู้ธรรมนั้น มีมากจนแทบจะเหยียบกันตาย อะไรไม่ว่า ดันมาเที่ยวอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ว่ากันเป็นตุเป็นตะ พาเข้ารกเข้าพง เป็นบ้าเป็นหลังกันไปใหญ่ จึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า อย่าเชื่อเพราะว่าเขาห่มผ้าเหลือง อย่าเชื่อเพราะว่าชาติตระกูลเขาสูงส่ง อย่าเชื่อเพราะว่าเขาเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ห้ามเป็นอันขาดคือ...

อย่าเชื่อเพราะว่าสื่อเชีัยร์...เจริญพร

วโรทาห์: 20 ต.ค. 51

No comments: